วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าวที่2

เปิดโรดแมปพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ปี 60

22 กุมภาพันธ์ 2560 18:48 น.
เปิดโรดแมปพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ปี 60
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย (ขวา) ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” และนางนิชาภา ยศวีร์ (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์
        ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทีเส็บ” เปิดแผนขับเคลื่อนศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจไมซ์ทั้งในประเทศและอาเซียน ชู 2 ยุทธศาสตร์ “สร้างคน พัฒนาแรงงานไมซ์” และ “ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจร” ดันไทยศูนย์กลางการศึกษาไมซ์และเดสติเนชั่นของการสร้างมาตรฐานไมซ์แห่งภูมิภาค 
       
       นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ในปี 2560 เป็นปีที่ “ทีเส็บ” ให้ความสำคัญกับการเร่งขับเคลื่อนศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่สนับสนุนให้ไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพไมซ์ใน 2 ยุทธศาสตร์หลัก โดยมี 4 กลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
       
       ยุทธศาสตร์แรก คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ เน้นมิติการสร้างการศึกษาแก่กลุ่มเป้าหมาย สร้างทรัพยากรคนและบุคลากรไมซ์เพื่อรองรับอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมการดำเนินงานใน 2 กลยุทธ์ คือ Trade Education หรือการศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ และ ด้าน MICE Academy หรือการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาและเยาวชน
       
       สำหรับการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจรจะครอบคลุมกรอบการดำเนินงานใน 2 กลยุทธ์ คือ MICE Standards หรือการดำเนินงานด้านมาตรฐานสากล และ MICE Sustainability หรือการดำเนินงานด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์หลักมีเป้าหมายดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านการศึกษาและการสร้างมาตรฐานไมซ์ในระดับภูมิภาค
       
       นายนพรัตน์กล่าวในตอนท้ายว่า จากแผนกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ในระดับภูมิภาคตามเป้าหมาย โดยมีแผนการตั้ง “ASEAN MICE Institute” เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ กำหนด รับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงออกแบบหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งระดับบุคคลและองค์กรให้มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป ซึ่งตอบโจทย์กลยุทธ์ของ “ทีเส็บ” ในการดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 1.01 แสนล้านบาท
       
       ด้าน นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ “ทีเส็บ” ให้รายละเอียดถึงการดำเนินงานใน 4 กลยุทธ์ว่า ด้านแรกคือ Trade Education การศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรด้านไมซ์นานาชาติให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ทุกสาขา ทั้งการประชุม การจัดแสดงสินค้านานาชาติ หรือการจัดงานอีเวนต์ โดยมีหลักสูตรที่ “ทีเส็บ” สามารถดึงมาจัดในประเทศไทยที่สำคัญหลายสาขา อาทิ Certified in Exhibitions Management (CEM) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ และ Certified Meeting Professional (CMP) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการประชุมนานาชาติ
       
       การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรระดับนานาชาติจะเป็นการตอกย้ำจุดยืนประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์ของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่ตัดสินใจเข้ามาจัดการประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าในประเทศไทย ด้วยการมีบุคลากรไมซ์ไทยที่มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพในระดับสากล
       
       ฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ยังได้ผลักดันการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน (MICE National Skill Standard) โดยร่วมมือกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มไมซ์ (อุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้า) ถือเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานไมซ์แห่งแรกของโลกสำหรับรายบุคคลซึ่งจะประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์และยกระดับบุคลากรให้ได้คุณภาพระดับสากล
       
       ด้านที่ 2 คือ MICE Academy การดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาและเยาวชน โดย “ทีเส็บ” ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่ภายใต้วิชาการจัดงานอีเว้นท์ หรือ Event 101 เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่เข้มข้นในวิชาการจัดงานอีเว้นท์โดยเฉพาะซึ่งเป็นหลักสูตรเล่มแรกของประเทศไทย โดยหลักสูตรนี้จะใช้ประกอบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับ “ทีเส็บ” และจะถูกบรรจุไว้ในสถาบันอุดมศึกษากว่า 60 แห่ง และอาชีวศึกษา 47 แห่งทั่วประเทศไทย
       
       หลักสูตรดังกล่าวได้พัฒนายกร่างในกรอบมาตรฐานการศึกษาไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดย มคอ.1 หรือมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะสามารถต่อยอดให้สถาบันการศึกษาเปิดสาขาวิชาไมซ์และสาขาวิชาอีเว้นท์มากยิ่งขึ้นต่อไป พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผลักดัน 5 สถาบันอาชีวศึกษาให้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยตั้งเป้าสร้างบุคลากรไมซ์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพในระดับอุดมศึกษาจำนวน 4 พันคน และในระดับอาชีวศึกษา 1 พันคน
       
       ด้านที่ 3 MICE Standards สำหรับแผนงานในประเทศจะขยายการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยภายใต้โครงการ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ประเภทห้องประชุม (Meeting Room) ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง และเมืองที่มีศักยภาพของการจัดงานไมซ์ตามคลัสเตอร์ของรัฐบาล และเป็นปีที่เริ่มการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยประเภทสถานที่แสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition Venue) พร้อมดำเนินการจัดทำมาตรฐานประเภทสถานที่จัดงานพิเศษ (Special Event Venue)
       
       การขยายมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์สู่ระดับอาเซียนนั้น รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยโดย “ทีเส็บ” ถือเป็นผู้นำของประเทศอาเซียน ในการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ในอาเซียน หรือ ASEAN MICE VENUE STANDARD (AMVS) นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์ โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดอบรม 1st ASEAN MICE VENUE STANDARD AUDITOR Training ในระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2560 เพื่อให้ทุกประเทศในอาเซียนได้รับทราบวิธีการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน
       
       ในปี 2561 ประเทศไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ASEAN Tourism Forum (ATF 2018) ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ของอาเซียน นอกจากนี้ ยังจัดทำมาตรฐานใหม่ Food Waste Prevention เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ลดและจัดการขยะจากการให้บริการอาหารให้ลดน้อยลง ตอบสนองนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)
       
       ด้านที่ 4 MICE Sustainability มุ่งพัฒนาการอบรมหลักสูตร Sustainable Events Professional Certificate (SEPC) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่ง “ทีเส็บ” ตั้งเป้าเริ่มการจัดอบรมครั้งแรกขึ้นในประเทศไทยปี 2561 พร้อมต่อยอดโครงการ Farm to Functions ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง และการจัดงานแบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral Events) โดยในปีนี้จะมีการจัดงานแบบไร้คาร์บอนจำนวน 5 งาน คาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 100 ตัน
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น